ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย
 ศิลปะสมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการรับอารยธรรมทางศาสนาจากประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่จึงมีความเกี่ยวข้องกับศาสนา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะได้ศึกษาและแบ่งงานศิลปกรรมที่พบและสร้างขึ้นในบริเวณประเทศไทย ออกเป็น 2 ช่วงกว้างๆ คือ 1. ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 (ก่อนพ.ศ. 1800)
2. ช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 (ตั้งแต่พ.ศ. 1800 เป็นต้นมา) ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19

ย้อนเวลาขึ้นไปไม่น้อยกว่า 4,500 ปีมาแล้ว บริเวณที่เป็นอาณาเขตของประเทศไทยปัจจุบัน มีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เร่ร่อนอาศัยตามเพิงผา ยังชีพด้วยการพึ่งพาเก็บหาอาหารจากธรรมชาติ ใช้เครื่องมือหินกะเทาะหยาบๆในการล่าสัตว์ ทุบหรือสับตัดอาหาร อาจใช้เวลานานหลายพันปีกว่าจะมีพัฒนาการทางสังคมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้น รู้จักทำและใช้เครื่องมือหินที่ตกแต่งอย่างประณีต โดยการขัดฝนให้เรียบ ใช้สับตัด แล่เถือเนื้อสัตว์ได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม เกิดการรวมตัวตั้งหลักแหล่งถาวร รู้จักการทำเกษตรกรรม เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีการประดับตกแต่งสวยงาม มีประเพณีฝังศพ วาดภาพบนผนังเพิงผา กิจกรรมที่แสดงถึงการจัดระบบระเบียบทางสังคม จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ความเจริญทางเทคโนโลยีในระดับที่สามารถหล่อหลอมโลหะ ผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ ซึ่งคงอยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 4,500-1,500 ปีที่ผ่านมา
หลังจากนั้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นอย่างช้า สมัยประวัติศาสตร์จึงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวัฒนธรรมทางศาสนาจากประเทศอินเดียได้แพร่เข้ามา ก่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ทางด้านตัวอักษรและภาษาหนังสือ ซึ่งเดิมคงได้แก่ อักษรปัลลวะ ภาษาบาลีหรือสันสกฤต สำหรับบันทึกเรื่องราวคำสอนทางศาสนา จากนั้นจึงใช้ตัวอักษรนั้นถ่ายทอดเป็นภาษาถิ่น เช่น ภาษามอญโบราณ หรือภาษาเขมรโบราณ รวมทั้งในระยะหลังยังได้มีการประดิษฐ์ตัวอักษรของตนเองขึ้นเพื่อใช้จารึกเรื่องราวต่างๆ ดังปรากฏหลักฐานจากศิลาจารึกที่พบในหลายพื้นที่

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่วัฒนธรรมทางศาสนาจะเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างแพร่หลาย ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้คงจะได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนจากต่างถิ่นอยู่ก่อนแล้ว คนกลุ่มแรกๆที่เดินทางเข้ามาในดินแดนแถบนี้คงได้แก่ พ่อค้าหรือนักผจญภัยเสี่ยงโชค เนื่องได้พบศิลปะรุ่นเก่า คือ ตะเกียงโรมันหล่อด้วยสำริด ที่ตำบลพงตึก จังหวัดกาญจนบุรี สันนิษฐานว่าหล่อขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรียในประเทศอียิปต์

เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 6 สมัยที่ยังตกอยู่ในความครอบครองของอาณาจักรโรมัน นอกจากนี้ยังพบเหรียญกษาปณ์โรมันสมัยจักรพรรดิวิคโตรินุส (พ.ศ. 812-814) ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเหรียญกษาปณ์อินเดียที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดกระบี่ ซึ่งคงเป็นของที่นักเดินทางเหล่านี้นำติดตัวมา ในส่วนของศิลปกรรมทางศาสนาที่มีผู้นำเข้ามา เช่น พระพุทธรูปขนาดเล็ก หล่อด้วยสำริด แบบศิลปะอมราวดีของอินเดีย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 พบที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดนราธิวาส พระพุทธรูปแบบคุปตะ สลักจากศิลา ศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9-11) พบที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระพุทธรูปสำริดพบที่ตำบลพงตึกศิลปะ อินเดียแบบหลังคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 11-13) รวมทั้งพระพุทธรูปแปดปาง หรือพระพิมพ์แบบพุทธคยา ในศิลปะปาละของอินเดียอายุราวราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น